ที่มา
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ดังจะเห็นได้จากการที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสถาบันวิจัย CERN ถึง 6 ครั้ง และ เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยือน CERN เป็นครั้งที่ 3 นั้น ได้มีการลงนามใน Expression of Interest in The Participation of Physicists from Universities and Research Institutes from Thailand in the CMS Experiment at the CERN LHC Accelerator ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ CERN โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้นักฟิสิกส์จากประเทศไทยเข้าร่วมทำการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงกับกลุ่มการทดลอง CMS (The Compact Muon Solenoid Experiment) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในงานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคของไทย เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆภายใต้ความร่วมมือนี้ ประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณที่มีความจุข้อมูลสูง และมีสมรรถนะในการคำนวณที่รวดเร็ว เพื่อใช้ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากที่เกิดจากการทดลองของเซิร์น
โครงการ National e-Science Infrastructure Consortium นี้จึงเสนอที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณขึ้น อันได้แก่ ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลสมรรถนะสูง ระบบจัดเก็บข้อมูล และพัฒนาเครือข่าย ซึ่งนอกจากจะรองรับความต้องการด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงดังกล่าวข้างต้นแล้ว เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการนี้จึงเสนอพัฒนาทรัพยากรดังกล่าวยังให้รองรับงานวิจัยด้านวิทยาการคำนวนแขนงต่างๆ ในประเทศอีก 3 สาขาคือ
- ฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูง (High Energy Particle Physics)
- วิทยาการและวิศวกรรมเชิงคำนวณ (Computational Science and Engineering)
- วิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Science and Engineering)
หน่วยงานสมาชิก
การดำเนินงานภาคีเป็นความร่วมมือของ
สมาชิกสามัญ 9 หน่วยงาน
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- สำนักงานรัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
- สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
- สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สมาชิกสมทบ 3 หน่วยงาน
- สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภาคีมีการบริหารโดยคณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงานสมาชิกสามัญและผู้เชี่ยวชาญ กำกับนโยบายการดำเนินงาน มีคณะทำงานด้านทรัพยากร คณะทำงานด้านเครื่องมือ คณะทำงานด้านบริหารการใช้งาน และคณะทำงานด้านเครือข่าย ทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ แบ่งหน้าที่กันทำงาน โดยมี สวทช. รับหน้าที่เป็นสำนักงานภาคี
กฎบัตรภาคี
<< Download >>